“ไลฟ์คอมเมิร์ซ” เทรนด์โกยเงิน ของคน Gen Z
ในขณะที่ “ไลฟ์คอมเมิร์ซ” (Live-Commerce) รูปแบบการรีวิวขายสินค้าออนไลน์ของประเทศจีนกำลังได้รับความนิยมอย่างสูง แต่หารู้ไม่ว่า ประเทศไทยเรานั้น.. การ “ไลฟ์สด” ขายสินค้าของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ นั้นได้กระทำกันมาอย่างช้านานแล้ว…
เอาจริง ๆ มันคือ การเปรียบเทียบให้เห็นภาพอย่างเข้าใจง่าย ๆ ว่า “ไลฟ์คอมเมิร์ซ” ไม่ได้แตกต่างจากการ “ไลฟ์สด” มากนัก เพราะจุดประสงค์ก็คือ การรีวิวขายสินค้าและบริการนั้น ๆ เพื่อมุ่งหวังนำไปสู่การขายให้กับผู้บริโภคหรือกลุ่มลูกค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์นั่นเอง
โดย “ไลฟ์คอมเมิร์ซ” (Live-Commerce) รูปแบบคือ การสตรีมมิ่ง โดยผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย หรืออาจจะผ่านโปรแกรม, แอพพลิเคชั่น ที่เป็นเหมือนเครื่องมือ (Solution) ในการโปรโมทสินค้าให้กับบรรดา “นักไลฟ์” ทั้งหลายได้สื่อสารไปยังกลุ่มลูกค้าโดยตรงผ่านรูปแบบบ Video Steaming
สำหรับประเทศจีน ผู้นำตลาดอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ อาทิเช่น Alibaba หรือ JD.com ก็ยังหันมาให้ความสำคัญกับแพลตฟอร์มวีดีโอสั้น ๆ หรือ ไลฟ์-สตรีมมิ่ง ด้วยเช่นกัน
และเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้ประชากรในจีน หันมาชอปออนไลน์ (ปกติก็ชอปออนไลน์จำนวนมากอยู่แล้ว เพราะตลาดอีคอมเมิร์ซของจีนนั้นเข้มแข็งและเป็นที่ยอมรับเป็นวงกว้างนานแล้ว) และจะตัดสินใจสั่งซื้อสินค้านั้น ๆ ผ่านการติดตาม “ไลฟ์คอมเมิร์ซ” จากบรรดาเหล่า Celebrity ที่มีชื่อเสียงในประเทศจีน ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นและนำไปสู่การซื้อสินค้าในโอกาสที่สูงขึ้น
จากสถิติฯ ปัจจุบัน (พ.ศ.2563) ในประเทศจีน มีคนที่ประกอบอาชีพไลฟ์คอมเมิร์ซมากกว่า 8 ล้านคน และในปีนี้ทั้งปี (พ.ศ.2563) จะมีคนที่เข้ามาทำอาชีพนี้ 15 ล้านคน
และถึงแม้ว่า จะมีคนหันมาทำอาชีพนี้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด โดยในปี 2563 นี้ “Online Economy” เติบโตมากกว่าปีที่แล้ว 3.6 เท่า และคนที่สมัครทำอาชีพไลฟ์คอมเมิร์ซ ในจีนก็เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ถึง2.4 เท่า
โดยการเติบโตอย่างรวดเร็วของไลฟ์คอมเมิร์ซมืออาชีพ ทำให้หลายคนมองว่า ควรมีกระบวนการจัดระเบียบและมีระบบมาตรฐานเข้ามาดูแล เพราะการเกิดใหม่อะไรหลายสิ่งหลายอย่างยังไม่เข้าที่เข้าทาง การร้องเรียนของผู้บริโภคมีอยู่ตลอด โดยในช่วงการตรวจสอบระหว่างวันที่ 1-20 มิ.ย.63 ที่ผ่านมานั้น มีการร้องเรียนจากผู้บริโภคเกี่ยวกับไลฟ์คอมเมิร์ซทั้งหมด 1.2 แสนครั้ง โดยประเด็นส่วนใหญ่ที่ร้องเรียนมีดังนี้
1. ผู้ขายไม่มีใบอนุญาตการค้าที่ถูกต้องและไม่แสดงให้ผู้บริโภคเห็น
2. ไลฟ์คอมเมิร์ซบางคน โดยเฉพาะพวกดารานักแสดงมีการโฆษณาสินค้าเกินจริง โน้มน้าวผู้บริโภคไปในทางที่ผิด
3. สินค้าที่โชว์ออนไลน์ไม่เหมือนกับของจริง เป็นสินค้าไม่มีสัญลักษณ์มาตรฐานสินค้าที่ได้รับการรับรอง
4. ไลฟ์คอมเมิร์ซทำตัวเลขผู้ชมปลอม ทำให้ผู้ซื้อจริงเข้าใจผิด
5. ไม่มีบริการหลังขาย
สิ่งที่ต้องตระหนัก คือ ไลฟ์คอมเมิร์ซนี้เป็นวงการใหม่ที่กำลังเติบโตได้ดี แต่ก็อยู่ในช่วงของการลองผิดลองถูก…
อย่างไรก็ตาม “ไลฟ์คอมเมิร์ซ” ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพยอดฮิตของคน GEN Z (คนที่เกิดหลังปี พ.ศ.2538 หรือ ปี 1995 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน) ไปเสียแล้ว ซึ่งหากประสบความสำเร็จมียอดคนเข้าชมและติดตามจำนวนมาก ก็สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ คล้ายกับ Influencer หรือ Youtuber ถือเป็นอาชีพของคนรุ่นใหม่ที่นิยมชมชอบอย่างแท้จริง
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงและรูปภาพ
mgronline.com
2,195 คน
ข่าวธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
©2024 TaokaeCafe.com