เรื่องต้องรู้ !! ผู้ที่ต้องการเริ่มธุรกิจ “ร้านทอง”
การเปิดร้านทอง หรือทำธุรกิจซื้อ – ขายทองคำ เป็นเรื่องที่มีรายละเอียดซับซ้อน และต้องวางแผนให้รอบคอบ จำเป็นต้องเตรียมการโดยละเอียด เพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปได้ในระยะยาว
ต้องกำหนดเงินลงทุนและเงินสำรอง ด้วยการกำหนดจำนวนสินค้าคงคลัง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับขนาดของร้านทอง และประเภทของทองที่คุณต้องการจะขาย อีกทั้งการเตรียมเงินสำรองเผื่อไว้ในกรณี เช่น ตลาดทองตกต่ำ
รวมถึงเงินสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่าง ๆ ไปจนถึงการลงทุนสำหรับการติดตั้งระบบกล้องวงจรปิด การติดสัญญาณกันขโมย ระบบเตือนภัยต่าง ๆ และการจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
วันนี้ เรามีข้อมูลสำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มต้นเปิดร้านทอง จะช่วยให้คุณวางแผนเปิดร้านซื้อ – ขายทองคำได้ง่ายขึ้นอย่างแน่นอน
1. ต้องรู้จักประเภทของทองคำก่อน
ทองคำแท่ง : ทองคำที่ยังไม่ได้นำไปขึ้นรูปเป็นทองรูปพรรณ
ทองรูปพรรณ : ทองคำที่ถูกนำไปทำเป็นเครื่องประดับกาย เครื่องแต่งกาย ของชำร่วย หรือสิ่งของต่าง ๆ ซึ่งในที่นี้จะรวมถึงนาก ที่เป็นโลหะผสมที่เกิดจากการผสมระหว่างทองแดง ทองคำ และเงินด้วย
2. ค่ากำเหน็จ
คือ ค่าดำเนินการในการผลิตทองคำรูปพรรณ เป็นค่าจ้างผลิตทองรูปพรรณ ดังนั้น การคิดราคาขายปลีกทองรูปพรรณ ให้คิดราคาขายบวกเพิ่มจากค่ากำเหน็จ เพื่อให้คุ้มกับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ นอกจากค่าสินค้า เช่น ค่าเดินทาง หรือค่าบำรุงรักษาร้าน
3. แหล่งรายได้
การซื้อ – ขายทองคำรูปพรรณและทองคำแท่งอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ผู้ที่ทำกิจการร้านทองจะทำธุรกิจอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย เพื่อเพิ่มแหล่งรายได้ เช่น การรับฝากขายทองคำ การขายเครื่องประดับอัญมณี รวมไปถึงสินค้าอื่น ๆ การให้บริการอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น รับซ่อมทอง รับซ่อมเครื่องประดับ ใส่กรอบพระ รับชุบทอง หรือรับฝังพลอย เป็นต้น
4. รายจ่าย
ต้องเตรียมเงินทุนสำรองให้เพียงพอต่อการที่จะทำให้ธุรกิจดำเนินการต่อไปได้จนกว่าจะได้ผลกำไร โดยรายจ่ายของกิจการร้านทอง ไม่ว่าจะเป็น ค่าซื้อสินค้าทองรูปพรรณใหม่ ทองรูปพรรณเก่า ทองคำแท่ง หรือสินค้าอื่น ๆ และค่าจ้างช่างทำทอง รวมไปถึงดอกเบี้ยจ่าย ในกรณีที่มีการกู้ยืมเงินมาเป็นทุนหมุนเวียนในกิจการ
5. ภาษีอากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม
ผู้ประกอบการที่เปิดร้านทองแบบบุคคลธรรมดา จะต้องจ่ายภาษีเงินได้ในกรณีที่ขายทองรูปพรรณ ทองคำแท่ง รับขายฝากทอง ขายสินค้า หรือให้บริการอื่น ๆ ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งสามารถหักค่าใช้จ่ายเหมา 60% หรือหักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 65 ทวิ หรือ 65 ตรี เพื่อลดหย่อนการจ่ายภาษีได้
อย่างไรก็ตาม หากกิจการร้านทองของคุณมีเงินที่ได้จากการขายสินค้า หรือให้บริการเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่มีเงินได้เกิน 1.8 ล้านบาทด้วย
หลังจากที่คุณจดทะเบียนภาษีมูลค่าเสร็จเพิ่มแล้ว จะต้องสอบถามเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมด้วยว่า แต่ละธุรกิจในร้านทองจะต้องคิดค่าภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไร เนื่องจากแต่ละธุรกิจย่อยในร้านทองจะมีการคิดค่าภาษีมูลเพิ่มที่ไม่เท่ากัน
เพราะว่า ทองคือยืนหนึ่งในเรื่องวัตถุสิ่งของที่มีคนอยากได้มากที่สุด ถึงแม้ทองจะไม่ใช่ปัจจัยสี่ แต่เราก็รู้ดีกันอยู่แล้วว่าทองสามารถเอาไปแลกเปลี่ยน เป็นปัจจัยเหล่านั้นได้สบายๆ ทองก็จะยังคงเป็นสุดยอดของล้ำค่าที่ดีที่สุด
1. ทองคำใครๆ ก็อยากได้ : เพราะว่าทองเป็นของมีมูลค่าสูงในตัวเอง เราสามารถเก็บทองไว้ได้นานไม่สูญสลาย ราคาของทองเองก็ไม่มีเสื่อม มีแต่จะพุ่งขึ้นไปอีกต่างหาก
2. ทองเหมาะกับทุกเพศทุกวัย และใช้ได้กับทุกเทศกาล : มีการผลิตลวดลายให้สวยงามมีความทันสมัย มีตั้งแต่เด็กแรกเกิด ถูกใจคุณผู้หญิงสวมใส่แล้วสวยงามมั่นใจ หรือคุณผู้ชายก็มีลวดลายทองที่ดูแข็งแรงตามสไตล์
3. ทองเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ : ทองไม่มีวันเสื่อม แถมทองยังมีราคากลางชัดเจน
4. ทองคือของขวัญต่อยอดชีวิต : ทองถือเป็นสินทรัพย์ชนิดหนึ่งที่มีมูลค่า สามารถใช้ทองเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงของชีวิตได้อย่างสบายๆ
5. ทองคือเครื่องหมายที่ดีของชีวิต : คนโบราณถือกันว่าทองเปรียบเหมือนดวงอาทิตย์ที่ส่องแสงแวววาววิบวับๆ สีทองก็เลยมีความหมายสื่อไปถึงความรุ่งเรืองของชีวิตนั่นเอง
จะเห็นได้ว่า มีหลายสิ่งหลายอย่างมาก สำหรับผู้ที่คิดจะเริ่มต้นเปิดร้านซื้อ – ขายทอง ดั้งนั้นควรศึกษาให้เข้าใจ ไม่ว่าจะเป็น ประเภทของทองคำ การคิดราคาขาย การจ่ายภาษี รวมไปถึงการวางระบบดูแลรักษาความปลอดภัย สำหรับผู้ที่อยากเริ่มต้นเปิดร้านทอง ต้องศึกษาอย่างถี่ถ้วน และที่สำคัญการกำหนดเงินลงทุน และเงินสำรองอย่างชัดเจน เพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปได้ในระยะยาว