เช็คก่อนขาย รู้ก่อนซื้อ! โฆษณาอาหารเสริม แบบไหนเรียกว่าเกินจริง

29 ม.ค. 2564 14:08:53
เช็คก่อนขาย รู้ก่อนซื้อ! โฆษณาอาหารเสริม แบบไหนเรียกว่าเกินจริง

มีกระแสด้านลบหลากหลายเกี่ยวกับการ "โฆษณาเกินจริง" ของอาหารเสริม คนไทยบางส่วนยังไม่รู้ว่าแบบไหนที่เรียกว่าโฆษณาเกินจริง  และคนขายเองก็ไม่ควรประมาทกับการโฆษณาเพียงหวังว่าขอให้ขายของได้ก็พอ มาเรียนรู้ และทำให้ถูกต้องไปพร้อม ๆ กัน

<<อาหารเสริมไม่ใช่ยารักษาโรค>>

ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่าผลิตภัณฑ์ "อาหารเสริม" ไม่ใช่ยา และส่วนประกอบของอาหารเสริมก็ต้องไม่ใช่ยาด้วย ใช้รักษาโรคไม่ได้ แต่ปัจจุบันกลับพบว่าอาหารเสริมที่วางขายทั่วไปเกือบทั้งหมดมักอวดอ้างสรรพคุณว่ารักษาโรคได้ เช่น ลดความอ้วน, เพิ่มความขาว, เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ เหล่านี้ถือว่าเป็นการอวดอ้างสรรพคุณทางยา ซึ่งเข้าข่ายโฆษณาเกินจริงและผิดกฎหมาย
 
หากอาหารเสริมนั้น ๆ มีการโฆษณาอวดอ้างถึงสรรพคุณเรื่องการรักษาโรค เช่น สามารถบำบัด รักษา ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้อย่างศักดิ์สิทธิ์หรือหายขาด สามารถรักษาโรคได้ครอบจักรวาล และสามารถรักษาโรคเรื้อรัง ร้ายแรง เช่น มะเร็ง โรคหัวใจ เสริมสรรถภาพทางเพศ เหล่านี้เข้าข่ายโฆษณาเกินจริง
 
และเพราะว่าอาหารเสริมไม่ใช่ยา จึงไม่สามารถออกฤทธิ์ให้เห็นผลได้ทันทีที่กินเข้าไป หากอาหารเสริมตัวใดที่รับประทานแล้วเกิดปฏิกิริยาหรืออาการภายใน 30 นาที ให้สันนิษฐานว่ามีการแอบใส่ยาอันตรายเป็นส่วนผสม


มี อ.ย. ก็โฆษณาเกินจริงได้ !

ข้อมูลจากสำนักคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (บส.) ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ "อาหารเสริม" ใด ๆ ก็ตาม แม้ว่าจะมีเครื่องหมาย อย. / เลขสารบบอาหาร และเลขทะเบียนยา / เลขที่ใบรับแจ้ง การมีเครื่องหมายเหล่านี้เป็นการยืนยันอนุญาตผลิตภัณฑ์เท่านั้น ไม่ได้เป็นการแจ้งว่าผลิตภัณฑ์นั้นผ่านการอนุญาตให้โฆษณาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย 
 
ดังนั้น การตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่มีการโฆษณาอย่างถูกกฎหมาย จะต้องดูที่ "เลขที่อนุญาตโฆษณา" ซึ่งจะแบ่งตามประเภทของผลิตภัณฑ์แต่ละอย่าง ได้แก่ 

💊 อาหาร/อาหารเสริม ต้องระบุ >> ฆอ. .../....

💊 ยา ต้องระบุ >> ฆท. .../....

💊 เครื่องสำอาง >> ไม่ต้องขออนุญาตโฆษณา แต่ต้องไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ


กินแล้วหน้ายก ตึงเป๊ะ = โฆษณาเกินจริง

กินแล้ว ทดแทนการศัลยกรรมได้ ให้คิดเลยว่าเกินจริง หลอกกันแน่นอน เช่น บอกว่ากินแล้ว กรอบหน้าชัด ช่วยกระชับผิวหน้า เหนียงหาย ร่องแก้มตื้น จมูกเข้ารูป หน้าเล็กเข้ารูป เหล่านี้เข้าข่ายโฆษณาเกินจริง 

โดยทาง อย. ออกมาชี้ชัดแล้วว่าคำโฆษณาเหล่านี้ ไม่เป็นความจริง ไม่มีผลิตภัณฑ์อาหารตัวใดที่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใบหน้า หรือการทำงานของร่างกายได้ตามที่กล่าวอ้าง การโฆษณาดังกล่าวเป็นการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต และเป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณอันเป็นเท็จ หลอกลวงให้หลงเชื่อโดยไม่สมควร 



4 ข้อควรรู้ ตั้งสติก่อนซื้อ!!
 
🔹 ใช้สติ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ ‘ความเป็นจริง’ กับ ‘ความเวอร์เกินจริง’

🔹 อ่านฉลากผลิตภัณฑ์อย่างละเอียดก่อนซื้อทุกครั้ง (หรือขอดูภาพฉลากหากเป็นการซื้อออนไลน์

🔹 มองหาสัญลักษณ์ที่ผ่านการอนุญาตจาก อย. รวมถึงต้องดู "เลขที่อนุญาตโฆษณา" ด้วย เช่น ฆอ. XX/25YY ที่แสดงไว้บนพื้นที่สื่อโฆษณา

🔹 รู้จักสืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์ โดยตรวจสอบจากเว็บไซด์ www.fda.moph.go.th คลิกไปที่ในหัวข้อ “สืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์” โดยนำเลขทะเบียน อย.ที่อยู่บนฉลากมาตรวจสอบว่าชื่อที่จดแจ้งไว้กับ อย. ตรงกับที่ปรากฏบนฉลากหรือไม่

 
**การโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอันเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินจริง ถือว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค หากพบโฆษณาที่เข้าข่ายโอ้อวดเกินจริงผ่านสื่อวิทยุหรือโทรทัศน์ สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนไปยังที่ผู้ประกอบการสื่อที่โฆษณานั้นๆ หรือที่สายด่วน อย. 1556 หรือที่สำนักงาน กสทช. Call Center 1200

 
แนะนำเจ้าของแบรนด์ และคนทำโฆษณาว่าการขายอะไรก็ตาม หากจริงใจกับผู้บริโภค ตั้งใจพัฒนาสินค้าจะทำให้สินค้าคุณอยู่ในตลาดได้อีกนาน ไม่มาปุ๊บหายปั๊บแน่นอน👌








 

3,911 คน

taokaecafe.com มีการใช้คุกกี้ อ่านเพิ่มเติม