กฎหมายเทคโนโลยีและ AI อะไรที่แบรนด์ควรรู้

17 ม.ค. 2567 11:51:20
กฎหมายเทคโนโลยีและ AI อะไรที่แบรนด์ควรรู้

สิ่งใดที่คงอยู่กับที่แทบไม่มีในโลก จะมีแต่เราเท่านั้นที่ต้องรู้ว่า ความเร็วในการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่เคยชะลอลง เช่นเดียวกับกฎหมายและกฎข้อบังคับระดับโลกที่กำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัลต้องเผชิญกับความท้าทายในการปฏิบัติตาม 


🔎ส่องยุโรป
นับตั้งแต่ปี 2561 สหภาพยุโรปเป็นผู้นำในการบังคับใช้กฎระเบียบต่าง ๆ ในเรื่องนี้ โดยมี GDPR หรือ General Data Protection Regulation ปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค โดยแบรนด์ต้องได้รับอนุญาตจากลูกค้าในการรวบรวมข้อมูลของลูกค้า ต่อมาคือ กฎหมายการให้บริการดิจิทัล พ.ศ. 2566 หรือ The EU'S 2023 Digital Services Act (DSA) ซึ่งสร้างขึ้นจาก GDPR และผลักดันให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้นในสภาพแวดล้อมออนไลน์ที่ปลอดภัย เพื่อควบคุมธุรกิจบนแพลตฟอร์มดิจิทัลและสื่อโซเชียล และกำลังเดินหน้าต่อไปกับกฎหมายปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI Act ซึ่งหวังว่าจะสร้างมาตรฐานระดับโลก สำหรับอัลกอริธึมและปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ 


🔎แลอเมริกา
สถานการณ์ในสหรัฐอเมริกานั้นแตกต่างกัน แม้เล็งเห็นในเรื่องนี้แต่ยังไม่มีการดำเนินการสำหรับกฎหมายระดับประเทศ ดังนั้น รัฐต่าง ๆ เช่น แคลิฟอร์เนีย โคโลราโด เท็กซัส และเวอร์จิเนีย จึงได้ออกกฎหมายด้านความเป็นส่วนตัวของตนเอง โดยแคลิฟอร์เนียอาจเป็นรัฐแรกที่ให้สิทธิ์ผู้คนในการเลือกไม่ใช้สิทธิ์ (opt-out rights) จากเทคโนโลยีขนาดใหญ่ รวมถึงสำหรับการตัดสินใจที่ดำเนินการโดยอัลกอริธึม ในขณะที่มีเสียงเรียกร้องให้มีการกำกับดูแลระดับประเทศ และการตั้งหน่วยงานเกี่ยวกับ AI ที่มีการดำเนินงานคล้ายกับสำนักงานคณะกรรมการการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา (Federal Trade Commission) หรือ FTC 


🔎มองมาจีน
ขณะที่ยักษ์ใหญ่อย่างจีน มีการดำเนินการอย่างรวดเร็วและผ่านกฎหมายปัญญาประดิษฐ์ไปแล้ว ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การควบคุมของรัฐบาลที่เข้มงวด และประเทศอื่น ๆ อีกหลายแห่ง อยู่ในระหว่างการถกเถียงหรือร่างกฎระเบียบ 


🔎จับจ้องไทย
สำหรับประเทศไทย มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลาย ๆ ฉบับที่ประกาศใช้ เช่น กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ซึ่งบังคับใช้ในปี 2566 โดยดำเนินรอยตาม GDPR ของสหภาพยุโรป กฎหมายบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งบังคับใช้ในปี 2566 เพื่อเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและยอมรับในการแพลตฟอร์มผู้ให้บริการ รวมทั้งเพื่อป้องกันความเสียหายแก่ประชาชนที่ใช้บริการ สำหรับ AI ยังไม่มีกฎหมายกำกับดูแลแต่ได้มีการกำหนดแนวปฏิบัติในระดับนโยบายแล้ว เพื่อให้เกิดการสนับสนุนและกระจายองค์ความรู้ เพื่อให้เกิดการใช้ AI ของไทยอย่างเหมาะสมและมีธรรมาภิบาล


ดังนั้น ในตอนนี้จึงยังคงมีคำถามมากกว่าคำตอบในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัล จำเป็นต้องใส่ใจและติดตามกฎหมายและข้อบังคับของแต่ละประเทศหรือว่ารัฐก็ตาม รวมถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป เพื่อให้มั่นใจว่ากิจกรรมทางการตลาดหรือแคมเปญทั้งหมดของเรา ตรงตามมาตรฐานทางกฎหมายในประเทศที่เราทำธุรกิจด้วย



อ้างอิง:
Digital Marketing Trends
EU เตรียมเริ่มใช้กฎหมายการให้บริการดิจิทัล (DSA) ควบคุมอินเตอร์เน็ตให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย
ปัญญาประดิษฐ์ในการให้บริการของภาครัฐ
เปิดหมดเปลือก กฎหมายใหม่ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ใครได้ประโยชน์
ร่วมผลักดัน AI Governance Guideline ฉบับแรกของไทยสู่การใช้งานจริงในระดับองค์กร
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.)

 

220 คน

taokaecafe.com มีการใช้คุกกี้ อ่านเพิ่มเติม