แพคเกจ TaokaeCafe
แพคเกจ TaokaeCafe

การบริหารความเสี่ยงของธุรกิจ

24 ก.พ. 2566 15:16:12
การบริหารความเสี่ยงของธุรกิจ

การบริหารจัดการธุรกิจโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงในธุรกิจนั้น อาจมาจากเหตุแห่งความเสี่ยง (Risk Drivers) ได้แก่ การลงทุนใหม่ ภาวะการเงินและการคลัง เศรษฐกิจและการเมือง การซื้อและควบรวมกิจการ เทคโนโลยี สินค้าและนวัตกรรมใหม่ การบริหารทรัพยากรมนุษย์ โครงสร้างองต์กร ความคาดหวังของชุมชน คู่แข่ง วัฒนธรรมและจรรยาบรรณขององค์กร กฏหมายหรือมาตรฐานของอุตสาหกรรม อาจเกิดขึ้นได้จากเหตุดังกล่าว แล้ว “ความเสี่ยง (Risk)” คืออะไร? ความเสี่ยง คือ โอกาส หรือเหตุการณ์ที่มีความไม่แน่นอนที่จะก่อให้เกิดความผิดพลาด ความเสียหาย การรั่วไหล ความสูญเปล่า หรือเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ หรือการกระทำใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอน เกิดเป็นอุปสรรคที่ทำให้เป้าหมายขององค์กรไม่บรรลุผล จะส่งผลกระทบต่อองค์กรได้
 

ประเภทความเสี่ยงได้ถูกจำแนกออกเป็น 5 ลักษณะ กล่าวคือ

1. ความเสี่ยงทางด้านกลยุทธ์
เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากการกำหนดแผนกลยุทธ์ แผนดำเนินงาน ที่นำไปปฏิบัติไม่เหมาะสม หรือไม่สอดคล้องกับปัจจัยภายใน และสภาพแวดล้อมภายนอก อันจะส่งผลกระทบต่อการบรรลุวิสัยทัศน์ พันธกิจ หรือสถานะขององค์กร ซึ่งปัจจัยความเสี่ยงภายในนั้นจะเกิดขึ้นภายในองค์กร สามารถควบคุมได้ ส่วนปัจจัยตวามเสี่ยงภายนอกจะเกิดขึ้นภายนอกองค์กร ยกตัวอย่างเช่น สถานะทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี เหล่านี้เป็นต้น

2. ความเสี่ยงทางด้านการเงิน
ที่เกิดจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่ไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ส่งผลให้สถานการณ์ของภารกิจจัดสรรงบไม่เพียงพอ ขาดสภาพคล่องทางการเงินได้

3. ความเสี่ยงทางด้านปฏิบัติงาน
ที่เกิดจากการขาดการควบคุมที่ดี อาจเกี่ยวข้องกับกระบวนการปฏิบัติงาน เช่น กระบวนการผลิตที่เกิดความผิดพลาดทำให้ผลิตสินค้าไม่ตรงตามต้องการของลูกค้า

4. ความเสี่ยงทางด้านกฎหมายและข้อกำหนดผู้พันองค์กร
เกิดจากการไม่สามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ หรือกฎระเบียบ หรือกฎหมายที่มีอยู่ไม่เหมาะสม หรือเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน เช่น การทำนิติกรรมสัญญาที่ไม่ชัดเจน หรือเสียเปรียบทางการค้า เป็นต้น

5. ความเสี่ยงทางการทุจริต
อาทิ การทำสัญญาข้อตกลงที่มีความเสี่ยงด้านผลประโยชน์ทับซ้อน มีช่องทางให้เกิดการรับผลประโยชน์จากผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง เป็นต้น
 

ประโยชน์ที่จะได้รับจากการบริหารความเสี่ยงคือ

  1. เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการบริหารงานและช่วยให้การพัฒนาองค์กรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
  2. เกิดความตระหนักถึงภัยคุกคามที่ยังมาไม่ถึง และลดการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้ ช่วยให้องค์กรสามารถบรรลุเป้าหมาย ในขณะที่ลดอุปสรรคหรือสิ่งที่ไม่คาดหวังที่อาจเกิดขึ้นทั้งในการป้องกันความเสียหายต่อทรัพยากรขององค์กร และสร้างความมั่นใจในการรายงานและการปฏิบัติตามกฎระเบียบ
 

ความสำเร็จในการบริหารความเสี่ยง

ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การปฏิบัติตามกรอบการบริหารความเสี่ยงในองค์กรประสบความสำเร็จ ได้แก่
  1. การสนับสนุนและมีส่วนร่วมจากผู้บริหารระดับสูงในองค์กร กล่าวคือ ผู้บริหารระดับสูงต้องให้ความสำคัญ และสนับสนุนให้ทุกคนในองค์กร มีความเข้าใจและให้ความสำคัญในคุณค่าของการบริหารความเสี่ยงต่อองค์กร โดยกำหนดนโยบายให้มีการปฏิบัติ รวมถึงกำหนดให้ผู้บริหารต้องใช้ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงในการตัดสินใจ และบริหารงาน เป็นต้น
  2. ความเข้าใจความหมายความเสี่ยงตรงกัน การใช้คำนิยามเกี่ยวกับความเสี่ยง และการบริหารความเสี่ยงแบบเดียวกัน จะทำให้การจัดทำกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยงมีความชัดเจน ผู้บริหาร และพนักงานใช้ภาษาความเสี่ยงในแนวทางเดียวกันและมีจุดหมายร่วมกันในการบริหารความเสี่ยง
  3. กระบวนการบริหารความเสี่ยงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รูปแบบการบริหารความเสี่ยงขององค์กรจะต้องมีการกำหนดขึ้น และเป็นความรับผิดชอบของผู้บริหารในทุกระดับที่จะนำกระบวนการบริหารความเสี่ยงมาปฏิบัติได้อย่างทั่วถึงทั้งองค์กร และต้องกระทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
  4. การบริหารการเปลี่ยนแปลงต้องมีการชี้แจง การนำกระบวนการบริหารความเสี่ยงมาปฏิบัติจำเป็นต้องมีการปรับวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยงขององค์กรให้เข้ากับทุกระดับขององค์กร จึงจำเป็นต้องให้ผู้บริหารและพนักงานได้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงและผลที่จะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ
  5. การสื่อสารที่มีคุณภาพเชื่อมโยงกับกลยุทธ์ การสื่อสารเกี่ยวกับกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยง และวิธีปฏิบัติ มีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งการชี้แจงทำความเข้าใจต่อพนักงานถึงความรับผิดชอบของแต่ละบุคคลต่อกระบวนการบริหารความเสี่ยง จะช่วยให้เกิดการยอมรับในกระบวนการ และนำมาซึ่งความสำเร็จในการพัฒนาการบริหารความเสี่ยง
  6. การวัดผลการบริหารความเสี่ยง ควบคู่กับกระบวนการด้านบุคลากร ซึ่งการวัดความเสี่ยงในรูปแบบของผลกระทบและโอกาสที่อาจเกิดขึ้น การวัดความสำเร็จของการบริหารความเสี่ยงโดยอาศัยดัชนีวัดผลการดำเนินงาน อาจกำหนดเป็นระดับองค์กร ฝ่ายงาน หรือของแต่ละบุคคล และการใช้ดัชนีวัดผลการดำเนินงานนั้นอาจปฏิบัติร่วมกับกระบวนการด้านทรัพยากรบุคคล
  7. การฝึกอบรม ความรู้ ความรับผิดชอบการบริหารความเสี่ยง ผู้บริหารและพนักงานในองค์กรต้องได้รับการฝึกอบรม เพื่อให้เข้าใจกรอบการบริหารความเสี่ยง และความรับผิดชอบของแต่ละบุคคลในการจัดการความเสี่ยง เพื่อบรรลุความสำเร็จขององค์กร
  8. การติดตามกระบวนการบริหารความเสี่ยง การกำหนดวิธีที่เหมาะสมในการติดตามการบริหารความเสี่ยง โดยจะพิจารณาประเด็นเรื่องการรายงาน และตรวจสอบขั้นตอนตามกระบวนการบริหารความเสี่ยง ความชัดเจนและสม่ำเสมอของการมีส่วนร่วม และความมุ่งมั่นของผู้บริหารระดับสูง บทบาทของผู้นำในการสนับสนุน และติดตามการบริหารความเสี่ยง และการประยุกต์ใช้เกณฑ์การประเมินผลการดำเนินงานที่เกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยง

ดังนั้น การบริหารความเสี่ยงขององค์กรจะประสบความสำเร็จได้นั้น ผู้บริหารระดับสูง และพนักงานในองค์กร ต้องเกิดความร่วมมือกันบริหารความเสี่ยงโดยปฏิบัติตามปัจจัยสำคัญทั้ง 8 ประการ ที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จในการบริหารความเสี่ยงขององค์กร

4,324 คน

taokaecafe.com มีการใช้คุกกี้ อ่านเพิ่มเติม