SME กับการสร้างความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน

29 พ.ย. 2565 10:35:16
SME กับการสร้างความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน

ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน (Creative Thinking in Working) ทุกคนสามารถสร้าง Creative Thinking ได้ ซึ่งความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน ถูกสร้างขึ้นหลากหลาย อาทิ งานเขียนเชิงสร้างสรรค์ นักเขียนเชิงสร้างสรรค์เหล่านี้ มักจะเป็นที่ต้องการมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริษัทที่ทำด้านการตลาด การออกแบบ เอเยนซี่โฆษณา รวมไปถึงสำนักข่าวต่าง ๆ เช่น Creative สโลแกน หรือคำคมในการโฆษณาต่าง ๆ “คิดจะพัก คิดถึง KIT KAT”, “หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา 7-Eleven” เป็นต้น

และเกิดนวัตกรรมแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของ จอห์น ฮาวกินส์ กล่าวว่า The Creative Economy คือ ระบบการผลิต การแลกเปลี่ยนและการใช้ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ เป็นการปฏิสัมพันธ์ระหว่างความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และความคิด (Ideas) ของมนุษย์ ทรัพย์สินทางปัญญา ความรู้ และเทคโนโลยี เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตั้งอยู่บนฐานของความรู้
 

หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือ แรงงานสร้างสรรค์ หรือแรงงานที่ประกอบอาชีพสร้างสรรค์ แบ่งออกเป็น 9 กลุ่ม ได้แก่

  1. กลุ่มการโฆษณาและการตลาด
  2. กลุ่มสถาปัตยกรรม
  3. กลุ่มศิลปหัตถกรรม
  4. กลุ่มการพิมพ์
  5. กลุ่มการออกแบบ (ออกแบผลิตภัณฑ์ กราฟฟิกและแฟชั่น)
  6. กลุ่มสื่อโสตทัศน์ (ภาพยนตร์ โทรทัศน์ วิทยุและการถ่ายภาพ)
  7. กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ ซอฟต์แวร์ และบริการคอมพิวเตอร์
  8. กลุ่มพิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่ และห้องสมุด
  9. กลุ่มดนตรี ศิลปะการแสดง และทัศนศิลป์
SME กับการสร้างความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน

การกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในองค์กรนั้น ประกอบด้วย

  1. จะต้องเปิดใจให้กว้าง และเลิกยึดติดกับการทำงานรูปแบบเก่า เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
  2. กำหนดเป้าหมาย แต่ไม่กำหนดวิธีการ เพื่อเปิดโอกาสให้นำเสนอวิธีหลากหลายอย่างเป็นอิสระ
  3. สร้างค่านิยมแห่งการสร้างสรรค์ พร้อมปลูกฝังเข้าไปในทีม โดยหัวหน้าทีมพยายามสื่อความคิดสร้างสรรค์ลงในชิ้นงาน
  4. สร้างบรรยากาศแห่งความคิดสร้างสรรค์ในที่ทำงาน เพื่อกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เช่น การอัพเดทความรู้ใหม่ที่ทันสมัย เพื่อเกิดแรงบันดาลใจคิดสร้างสรรค์ผลงาน
  5. การระดมสมองประลองปัญญากันในทีมงานอย่างสร้างสรรค์ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นก่อให้เกิดไอเดีย ความคิดต่อยอดในการสร้างสรรค์ผลงาน
  6. ไม่ควรรีบด่วนตัดสินใจ ให้ลองมองหาความคิดอื่น ๆ มาเปรียบเทียบเสมอ
  7. อย่าปล่อยให้พนักงานจมอยู่กับสิ่งเดิม ๆ นานเกินไป ทำให้ขาดความคิดสร้างสรรค์ จึงควรเปิดโลกทัศน์ เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ใหม่ ๆ

นอกจากนี้ การส่งเสริมนิสัย “ช่างสงสัย” ให้ทีมงานซึ่งองค์กรอาจต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมบางอย่างขององค์กรคือ ให้โอกาสทีมงานได้เรียนรู้สิ่งใหม่ สร้าง Mindset ที่ทำให้เกิดความช่างสงสัย ส่งเสริมให้เกิดคำถามโง่ ๆ ภายในทีม เพื่อให้ทุกคนกล้าที่จะพูด กล้าที่จะคิด และกล้าที่จะทำ ความช่างสงสัยต้องเริ่มจากผู้นำ การให้คนในทีมได้แสดงความคิดเห็น เพื่อเป็นการส่งเสริมความช่างสงสัยในการทำงานของคนในทีม ซึ่งนิสัย “ช่างสงสัย” ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในทีมได้
SME กับการสร้างความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน

การฝึกบุคลากร SME ให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
การฝึกตนเองให้มี Creative ทุกวันด้วยการเริ่มต้น

  1. จัดตารางเวลาประจำวัน ให้งาน Creative มาก่อนเสมอเริ่มต้นด้วยงานที่ต้องใช้สมองมาก ๆ อย่างงานครีเอทีฟ งานที่เน้นความคิดสร้างสรรค์หนัก ๆ ส่วนงานที่เกี่ยวกับ ‘Reaction’ เช่น การประชุม การตอบอีเมล งานที่มีการโต้ตอบไปมา จัดไว้ช่วงบ่าย
  2. ควรจัดบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับการทำงาน สร้างบรรยากาศแวดล้อมให้เกิด Creative
  3. ฝึกสมองให้คิดทุกวันและจัดเวลาสำหรับลับไอเดียให้คมอยู่เสมอ การลองคิดไอเดียใหม่ ๆ
  4. หยุดบ้างเมื่อเหนื่อยล้าหรือนั่งทำงานมาทั้งวัน การงีบหลับระหว่างวัน กลับมีประโยชน์มากกว่าที่คุณคิด เพราะในยามที่เรารับข้อมูลจำนวนมหาศาลจนโอเวอร์โหลด สมองประมวลผลตามไม่ทัน ให้ลองนอนพักสักงีบ (ประมาณ 1-2 ชม.) เมื่อตื่นขึ้นมาแล้ว สมองของคุณจะมีพลังคิดไอเดียดี ๆ หรือคิดวิธีแก้ปัญหาออกได้ดีกว่าฝืนทนนั่งคิดจนหัวแทบแตก
  5. ให้เวลากับตัวเอง ควรหยุดพักให้เวลากับตัวเองบ้าง การได้อยู่นิ่ง ๆ เงียบ ๆ หาที่สงบ ๆ ให้กับตัวเอง ให้สมองได้พักอย่างจริงจัง และทบทวนสิ่งที่ได้ทำประจำวัน
  6. อย่ามัวแต่รออารมณ์ การวางแผนในการทำงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ การรอเวลารออารมณ์คือข้ออ้างของความขี้เกียจ อย่าปล่อยให้ตัวเองเป็นศัตรูของตัวเอง
 

การฝึกคิดแบบนักออกแบบ (Design Thinking) การนำทักษะการนำเสนอ หรือ Presentation Skill ของนักออกแบบมาใช้ฝึกให้มีความคิดสร้างสรรค์ ได้แก่

  1. ทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ Creative Thinking บันไดขั้นแรกสู่การเป็นคน Creative คือ “เลิกตีตราตัวเองว่าเราไม่มีความคิดสร้างสรรค์” ทั้งนี้ความความคิดสร้างสรรค์สามารถฝึกฝนและพัฒนาได้ นอกจากนี้การเพิ่มวัตถุดิบ หรือความรู้ในด้านต่าง ๆ ที่ควรมีหลากหลายไม่ควรกระจุกอยู่แค่หัวข้อเดียว และควรฝึกการเชื่อมโยงวัตถุดิบที่มีเข้ากับสิ่งที่เจอในชีวิตประจำวันเข้าด้วยกัน
  2. ทักษะการช่างสังเกต Curiosity การเป็นคนช่างสังเกตจะช่วยให้สามารถมองเห็นปัญหาที่ซ่อนอยู่ และคิดไอเดียใหม่ ๆ ได้ การหยุดสังเกตสิ่งรอบ ๆ อย่างตั้งใจ มีรูปแบบหรือ patternที่น่าสนใจ การฝึกจับแพะชนแกะ เป้าหมายการฝึกคือ “การฝึกคิดไอเดีย” และการฝึกตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัวเพื่อลองหาไอเดียใหม่ ๆ
  3. ทักษะกระบวนคิดแบบนักออกแบบ Design Thinking กระบวนการออกแบบ (Design Process) แบ่งกระบวนการออกเป็น 5 ขั้นตอนคือ
    • ขั้นตอนที่ 1 Collect Data / Research การเก็บข้อมูลด้วยวิธีการ การสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมาย การสังเกต เป็นต้น
    • ขั้นตอนที่ 2 Define / Analyze การนำเอาข้อมูลที่เก็บได้จัดเป็นหมวดหมู่ นำมาคิดวิเคราะห์ หาความเชื่อมโยงของชุดข้อมูล เพื่อหา insight
    • ขั้นตอนที่ 3 Brainstorm / Ideate เป็นการนำเอาข้อมูลเหล่านั้นมาคิดแตกเป็นไอเดีย
    • ขั้นตอนที่ 4 Develop / Prototype เป็นการนำไอเดียมาพัฒนาต่อโดยการนำมาทดลองสร้างออกมาเป็นต้นแบบ (Prototype) และ
    • ขั้นตอนที่ 5 Test & Iteration การนำเอาไอเดียที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นต้นแบบนั้นออกไปทดสอบหรือขอความคิดเห็นจากกลุ่มเป้าหมายจริง เมื่อได้ Feedback มาแล้วนำกลับมาพัฒนาต่อ ซึ่งจะช่วยให้สามารถคิดต่อยอดได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น

810 คน

taokaecafe.com มีการใช้คุกกี้ อ่านเพิ่มเติม